COLUMNIST

การเคลื่อนย้ายภูเขาขยะใจกลางกรุงนิวเดลี
POSTED ON -


 

เมื่อพูดถึง "อินเดีย" จินตนาการของคนไทยจะไปคนละทิศละทาง ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางจินตนาการ บ้างก็มีมโนจิตไปว่าเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรมาก บ้างก็เห็นภาพของทัชมาฮาลงามสง่าพร้อมประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ บ้างก็เห็นคนจนขอทานมากมายอันเกิดจากการแบ่งชั้นวรรณะ และอะไรอีกต่างๆ มากมายตามจินตนาการ

 

แต่สำหรับผู้เขียนมองเห็นภูเขาทะมึนใจกลางเมืองหลวง กรุงนิวเดลี โอบล้อมด้วยตึกรามบ้านช่องและตลาดจำหน่ายสัตว์เลี้ยง คงไม่ต่างจากภูเขาขยะของบ้านเราแถวอ่อนนุชและหนองแขมก่อนหน้านี้เท่าใดนัก แต่ที่น่าสนใจคือ "ภูเขาขยะขนาด 5 ล้านตัน" ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นที่สูงและใหญ่กว่าบ้านพักอาศัยในบริเวณชุมชนเสียอีก

 

ประเทศอินเดียมีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน เป็นรองแค่จีนเท่านั้น และมีประชากรอาศัยอยู่ในเมืองหลวงนิวเดลีกว่า 10 ล้านคน คนอินเดียส่วนใหญ่ราว 80% นับถือศาสนาฮินดู จะมีนับถือศาสนาอิสลามบ้างประมาณ 10% ส่วนศาสนาพุทธนั้นน้อยมาก ถึงแม้จะเป็นดินแดนต้นกำเนิดพุทธศาสนาก็ตาม

 

ใครที่มีโอกาสได้ไปเยือนนิวเดลีก็คงจะจดจำวิธีการขับขี่ของชาวภารตะไปอีกนานแบบยากจะลืมเลือน และยิ่งถ้าพลาดโอกาสในการนั่งสามล้อถีบผ่านตลาดซอยแคบๆ ด้วยแล้ว ก็คงต้องบอกเลยว่า "ท่านยังไปไม่ถึงนิวเดลี"

 

ส่วนบรรดาขอทานมากมายตามแหล่งท่องเที่ยวก็คงเป็นสัญลักษณ์ว่าการพัฒนาของประเทศนั้นๆ ยังไม่ยั่งยืน จึงรวยกระจุก จนกระจาย

 

กรุงนิวเดลีได้ทำสัญญาระยะยาวเพื่อกำจัดขยะที่ตกค้าง 5 ล้านตัน และขยะใหม่อีกวันละ 2,000 ตัน กับบริษัท IL&FS Environmental Infrastructure & Service Limited โดยหลักการของประเทศอินเดียก็คือ กำจัดขยะให้ได้ก่อนเป็นหลัก ส่วนการผลิตไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อนเป็นเพียงผลพลอยได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงไม่ได้อุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้า

 

โดยปกติอินเดียจะมีอัตราค่าไฟฟ้าไม่ต่างจากประเทศไทย คือ ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย องค์ประกอบขยะในกรุงนิวเดลีไม่แตกต่างจากเมืองไทยมากนัก และเมื่อคัดแยกมาเป็น RDF (Refuse Derived Fuel) จะได้เป็นเชื้อเพลิงขยะประมาณ 42% ขยะที่เข้ามาใหม่ในแต่ละวันที่แตกต่างไปจากเมืองไทย ก็คือ ขยะอินทรีย์ (Organic) เพราะนิวเดลีมีเพียง 21.22% แต่ในประเทศไทยมีเฉลี่ยกว่า 50% ซึ่งย่อมเป็นการส่งสัญญาณอะไรหลายๆ อย่างในการบริโภคของประชากร ส่วนขยะรีไซเคิลที่เหลือเพียง 1.4% อาจเนื่องมาจากถูกคัดแยกออกไปขายก่อนถึงบ่อฝังกลบก็เป็นไปได้ ลองศึกษาองค์ประกอบดังต่อไปนี้

 

 

ยุทธการเคลื่อนย้ายภูเขาขยะเริ่มขึ้นเมื่อกรุงนิวเดลีทำสัญญาให้บริษัทเอกชนด้วยการคัดแยกเป็น RDF ก่อน แล้วจึงนำไปผลิตไฟฟ้า เพื่อหยุดไม่ให้ภูเขาสูงขึ้นไปอีก ในขณะเดียวกันก็นำขยะจากภูเขามากำจัดไปด้วย ซึ่งไม่ง่ายเลยในการรื้อบ่อฝังกลบที่สูงพอๆ กับตึก 10 ชั้น และเต็มไปด้วยก๊าซมีเทนที่พร้อมจะติดไฟได้ทันที มีทั้งกลิ่นมีเทนและกลิ่นขยะเคล้ากันไป ดูน่ากลัวกว่าเมืองไทย ซึ่งนึกภาพไม่ออกเลยว่าจะเป็นอย่างไรหากเกิดเพลิงไหม้ภูเขาขยะเนื่องจากอยู่ติดกับโรงไฟฟ้าและชุมชนจนเป็นพื้นที่เดียวกัน แต่โชคดีที่ยังไม่เคยเกิดเพลิงไหม้

 

ผู้จัดการฝ่ายการผลิต RDF ของโรงงานนี้ ได้มาดูงานในเมืองไทยเมื่อราว 3 ปีที่แล้ว และสนใจระบบการจัดการขยะของกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จึงได้ใช้เครื่องจักรหลักๆ จากประเทศฟินแลนด์เหมือนประเทศไทย ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ประเทศอินเดียมีอุตสาหกรรมรองรับด้านนี้อยู่แล้ว จึงไม่ยากที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Boiler และ Stream Turbine แบรนด์ดังๆ ก็ล้วนจ้างอินเดียผลิตแทบทั้งสิ้น สรุปได้ว่าโรงไฟฟ้าก็คือ ยุทธศาสตร์ที่จะลดขยะใหม่ไม่ให้เพิ่มขึ้นไปอีก

 

ยุทธการต่อมา ทางผู้บริหารบริษัท Timarpur - Okhla Waste Management Company Pvt Ltd. โดย Mr.Dheeraj ได้เล่าให้ฟังว่า กำลังขอสร้างโรงไฟฟ้า RDF ขนาด 20 เมกะวัตต์ โดยเพิ่มจากขนาด 12 เมกะวัตต์ ที่กำลังทดสอบการใช้งานอยู่ แต่ระบบใบอนุญาตของอินเดียก็เหมือนประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป คือ อาจต้องเข้าคิวรอ 2 ปีเป็นอย่างน้อย ไม่ต่างกับเมืองไทยก่อนหน้านี้ ว่ากันว่าระยะเวลากว่าจะได้ใบอนุญาตต่างๆ จนครบ อาจจะยาวนานกว่าสร้างโรงไฟฟ้าในประเทศอินเดียเสียอีก

 

ความน่าสนใจของโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจาก RDF ของอินเดียแห่งนี้ก็คือ ระบบคัดแยกที่มีการผสมผสานระหว่างขยะเก่าด้านหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งเป็นขยะใหม่ ซึ่งในระบบคัดแยกจำเป็นต้องมีการย่อยด้วยเครื่องจักรประสิทธิภาพสูงรองรับขยะวันละ 2,000 ตันได้โดยไม่มีปัญหา พร้อมกันนี้ก็ต้องมีระบบดูดอากาศด้านบนทำงานทั่วพื้นที่การคัดแยกขยะ และบริเวณที่คาดว่าขยะจะส่งกลิ่น

 

สำหรับท่านที่เป็นนักเทคโนโลยีหรือนักนวัตกรรม ขอเรียนว่าภูเขาขยะ 5 ล้านตันในอินเดียแห่งนี้ยังคงตั้งตระหง่านรอนักเทคโนโลยีเข้าไปเสนอระบบรื้อบ่อฝังกลบที่มีประสิทธิภาพ หรือท่านที่เป็นนักลงทุนก็ลองศึกษาองค์ประกอบขยะดูว่าจะสามารถไปลงทุนทำธุรกิจพลังงานขยะในอินเดียได้บ้างหรือไม่ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะแห่งนี้ใจกว้างอนุญาตให้ผู้สนใจเข้าชมแม้กระทั่งระบบคัดแยกด้วยคน รวมทั้งระบบย่อยขยะโดยให้ดูจากด้านหลังเพื่อความปลอดภัย แต่ก็เห็นขยะที่ผ่านการย่อยไหลออกมาตามสายพานอย่างชัดเจน และไม่หวงที่จะให้ท่านเก็บภาพประทับใจกลับไปบ้าง

 

ส่วนการคัดแยกด้วยคนซึ่งหลายๆ ประเทศมักจะปกปิดนั้น ผู้เขียนเองในฐานะที่เคยมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมการคัดแยกขยะมาแล้วทั่วโลก ยอมรับว่าที่อินเดียนี้มีระบบไม่แพ้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะมีการดูดกลิ่นออกหรือการถ่ายเทของอากาศ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องปกปิดจนกลายเป็น Unseen Technology

 

เราหยุดพักความประทับใจกับยุทธการเคลื่อนย้ายภูเขาขยะของนิวเดลี ประเทศอินเดีย กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงของขยะในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากที่ท่านนายกรัฐมนตรีเอาจริงเอาจัง เก็บกวาดกฎระเบียบที่ล้าสมัยไปส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังขว้างงูไม่พ้นคอ ยังคงมีกฎระเบียบอีกไม่น้อยที่ยังรกรุงรังกว่าขยะ ทำให้การลงทุนนั้นยุ่งยาก ซึ่งคงต้องให้เวลาเป็นกลไกปรับเปลี่ยน โดยหวังว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศผู้นำในการจัดการขยะแบบ Waste to Energy ในอาเซียนและในเอเชียในที่สุด

 

วันนี้คุณช่วยคัดแยกขยะที่บ้านหรือยัง?

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics